ข้อมูลทั่วไปของจังหวัดน่าน
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด รูปพระธาตุแช่แห้งบนหลังวัว
ข้อมูลทั่วไป
น่านมีพื้นที่ ๑๑,๔๗๒.๐๗๒ ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ ๗ ล้านไร่เศษ อยู่ห่างจากกรุงเทพ ๖๖๘ กิโลเมตร เป็นเมืองชายแดนแห่งล้านนาตะวันออกอันอุดมไปด้วยวัฒนธรรมที่หลอมรวมจากเทือกเขาสูงถึงพื้นราบ มีความเก่าแก่รุ่นเดียวกับกรุงสุโขทัย มีเจ้าผู้ครองนครสืบต่อกันมา รวมทั้งสิ้น ๖๔ พระองค์ น่านเดิมมีชื่อว่า “นันทบุรี” หรือ “วรนคร” สร้างขึ้นโดยพระยาภคา ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ บริเวณที่ราบตำบลศิลา-เพชร หรือ อำเภอปัวในปัจจุบัน ใน พ.ศ.๑๙๐๒ พระยาการเมืองได้รับพระบรมสารีริกธาตุจากกรุงสุโขทัย ทรงเลือกดอยภูเพียงแช่แห้ง เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุพร้อมกับย้ายเมืองมาสร้างใหม่บริเวณเชิงดอย ต่อมาประมาณ พ.ศ. ๑๙๑๑ แม่น้ำน่านได้เปลี่ยนทิศทาง พระยาผากอง ราชบุตรพระยาการเมือง ได้ย้ายเมืองอีกครั้งมาตั้งที่บ้านห้วยไค้ ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองน่านปัจจุบัน
แม่น้ำน่านเสมือนเส้นเลือดของชาวน่าน มีต้นกำเนิดจากดอยขุนน้ำน่าน ตำบลขุนน่าน อำเภอบ่อเกลือ ซึ่งไหลขึ้นเหนือไปทางอำเภอทุ่งช้าง แล้วไหลลงใต้ไปยังอำเภอปัว อำเภอท่าวังผา อำเภอเมืองน่าน อำเภอเวียงสา หลังจากนั้นไหลลงไปยังจังหวัดอื่น คือ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และ พิจิตร จึงไปรวมกับแม่น้ำยมที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ และแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากน้ำโพ นครสวรรค์ ร้อยละ ๔๐ ของลำน้ำน่านนั้น หล่อเลี้ยงลำน้ำเจ้าพระยา
ทิศเหนือ ติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดอุตรดิตถ์
ทิศตะวันออก ติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดแพร่และจังหวัดพะเยา
การปกครอง
จังหวัดน่านแบ่งการปกครองออกเป็น 15 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอเวียงสา อำเภอสันติสุข อำเภอแม่จริม อำเภอท่าวังผา อำเภอบ้านหลวง อำเภอนาน้อย อำเภอปัว อำเภอสองแคว อำเภอเชียงกลาง อำเภอนาหมื่น อำเภอทุ่งช้าง อำเภอบ่อเกลือ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และอำเภอภูเพียง
คำขวัญประจำจังหวัด "แข่งเรือลือเลื่อง เมืองงาช้างดำ จิตรกรรมวัดภูมินทร์ แดนดินส้มสีทอง เรืองรองพระธาตุแช่แห้ง"
จังหวัดน่านใช้ชื่ออักษรย่อว่า "นน"
ดอกไม้ประจำจังหวัดน่าน "ดอกเสี้ยวขาว"
ต้นไม้มงคลประจำจังหวัด "กำลังเสือโคร่ง" Betula alnoides Buch-Ham.
ภูมิศาสตร์
จังหวัดน่านมีสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา โดยเฉพาะบริเวณชายแดนด้านเหนือและตะวันออกซึ่งเป็นรอยต่อกับลาว แต่ก็ยังมีแม่น้ำสายสำคัญด้วยนั่นคือ แม่น้ำน่านซึ่งมีต้นกำเนิดทางตอนเหนือของจังหวัด แล้วไหลลงไปยังเขื่อนสิริกิติ์ในจังหวัดอุตรดิตถ์ และบรรจบกับแม่น้ำปิงที่จังหวัดนครสวรรค์เป็นแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ยังมีลำน้ำสาขาต่าง ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ลำน้ำสา ลำน้ำว้า ลำน้ำสมุน ลำน้ำปัว ลำน้ำย่าง เป็นต้น
เมื่อถึงฤดูหนาว อากาศหนาวจัด เนื่องจากแวดล้อมไปด้วยภูเขาสูง ยอดเขาที่สูงที่สุดคือ ดอยภูคา ในอำเภอปัว มีความสูงถึง 1,980 เมตร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น